วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 16.10 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปทัศนศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพิมาย ศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีอายุราว 1,000 ปี แผนผังเมืองพิมายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำล้อมรอบ ประกอบด้วย แม่น้ำมูล ลำน้ำเค็ม และลำน้ำจักราช คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกันกับคำว่า “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรที่กรอบประตูของปราสาทพิมาย จึงเชื่อว่าเมืองพิมาย เป็นเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรเขมรโบราณ กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมายในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี 2479 โดยร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศส บูรณะปราสาทประธาน รวมทั้งโบราณสถานในเมืองพิมาย พร้อมกับ จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พิมายขึ้น และดำเนินการบูรณะปรับปรุงโบราณสถานอื่น ๆ โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเมื่อปี 2532 ปราสาทพิมาย มีองค์ประกอบ อาทิ สะพานนาคราช ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้ สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท ราวสะพานทำเป็นลำตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร เป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 สะพานนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ มีซุ้มประตู หรือ โคปุระ อยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ถัดจากกำแพงแก้วเข้ามาถือว่าเข้าสู่ดินแดนสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า จะมีชาลาทางเดิน, บรรณาลัย, สระน้ำ ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 ทิศ, ระเบียงคต มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบปราสาทประธาน และมีซุ้มประตูอยู่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูระเบียงคตด้านทิศใต้จารึกอักษรขอมโบราณภาษาเขมร ชื่อ “กมรเตงชคตวิมาย” และกล่าวถึงการสร้างรูปเคารพสำคัญชื่อ “กมรเตงชคตเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ภายในลานชั้นใน ตรงกลางเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน เป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุด สร้างด้วยหินทรายขาว สูง 28 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ มณฑปและเรือนธาตุ มีการสลักลวดลายประดับตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง ด้านนอกสลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ด้านในสลักภาพเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาคติมหายาน ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุด เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก บริเวณพื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องไปทางด้านนอกเรียกว่า “ท่อโสมสูตร” นอกจากนี้ ภายในลานชั้นในยังมีพลับพลา, หอพราหมณ์, ปรางค์หินแดง, ปรางค์พรหมทัต ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. ข่าวอื่นในหมวด

19 ต.ค. 65
ดาวน์โหลดเอกสารแนบ :